หนังDITP และ TBLC แลกเปลี่ยนความร่วมมือส่งเสริม และเพิ่มศักยภาพผู้ผลิตคอนเทนต์วาย ในการจัดจำหน่ายไปสู่ต่างประเทศ
DITP และ สมาคมส่งเสริมคอนเทนต์วายไทย (TBLC) แลกเปลี่ยนบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ส่งเสริมและเพิ่มศักยภาพของผู้ผลิตคอนเทนต์วายในการจัดจำหน่ายคอนเทนต์ไปสู่ต่างประเทศ ประเดิมจัดโครงการฝึกอบรมผู้ประกอบการดิจิทัลคอนเทนต์ไทยสู่ตลาดโลก
ทั้งกิจกรรมอบรมเสวนา และ Workshop ด้านการจัดจำหน่ายคอนเทนต์ในตลาดต่างประเทศ จัดโดยสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ (สถาบัน NEA) เชิญผู้ประกอบการคอนเทนต์ วาย ไทย Upskill พัฒนางานคอนเทนต์ให้ตอบโจทย์ทั้งทางการตลาดและลูกค้า
Reskill สร้างทักษะขึ้นมาใหม่ที่จำเป็นต่อการทำงาน เพื่อให้นำไปปฎิบัติได้จริงและเกิดผลลัพธ์ที่ประสิทธิภาพตรงตามต้องการ พร้อมเปิดโอกาสให้นำเสนอผลงาน (pitching) กับ 4 แพลตฟอร์มต่างประเทศแบบเอ็กซ์คลูซีฟ
โดยได้จัดทีมผู้เชี่ยวชาญมาถ่ายทอดองค์ความรู้แก่ผู้ประกอบการดิจิทัลคอนเทนต์ ตลอด 4 วันเต็ม ในหลากหลายหัวข้อ ได้แก่ ตลาดดิจิทัลคอนเทนต์ในต่างประเทศ การตั้งราคาและการขายดิจิทัลคอนเทนต์ในตลาดต่างประเทศ รูปแบบดิจิทัลคอนเทนต์ที่เป็นที่ต้องการในตลาดต่างประเทศ กฎหมายที่เกี่ยวข้องและการทำสัญญาซื้อ-ขายดิจิทัลคอนเทนต์ การเตรียมเอกสารสำหรับการจัดจำหน่ายดิจิทัลคอนเทนต์ การตั้งราคาและเทคนิคการขายดิจิทัลคอนเทนต์
ก่อนจะเข้าสู่การแบ่งกลุ่มเพื่อเข้าสู่การ Workshop ในหัวข้อ การจัดจำหน่ายดิจิทัลคอนเทนต์และการนำเสนองาน (Pitching) คอนเทนต์วาย โดยเป็นการเปิดโอกาสให้ได้เสนอขายผลงานจริงกับตัวแทนแพลตฟอร์มชั้นนำจากต่างประเทศ อาทิ GagaOOLala (กาก้าอู้ลาล่า) / iQIYI (อ้ายฉีอี้) / WeTV (วีทีวี) / และ Viu (วิว)
ได้มีพิธีแลกเปลี่ยนความร่วมมือระหว่างกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ และ สมาคมส่งเสริมคอนเทนต์ วาย ไทย โดยใน MOU ได้ผ่านการลงนามจาก นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และ นางศศิกร ฉันท์เศรษฐ์ นายกสมาคมส่งเสริมคอนเทนต์ วาย ไทย เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
นางภาวินี รวยรื่น ผู้อำนวยการสถาบัน NEA กล่าวว่า ปัจจุบันการผลิตคอนเทนต์หรือเนื้อหาที่น่าสนใจ สร้างสรรค์ มีคุณภาพ พร้อมตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายในระดับสากล เป็นอีกหนึ่งโอกาสสำคัญที่ช่วยส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจให้แก่หลาย ๆ ประเทศได้ รวมถึงประเทศไทย กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เล็งเห็นถึงโอกาสดังกล่าว และมองเห็นความสำคัญของการพัฒนาบุคลากรสร้างสรรค์สายคอนเทนต์ของไทย จึงได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ร่วมกับ สมาคมส่งเสริมคอนเทนต์ วาย ไทย ซึ่งมีสมาชิกผู้ประกอบการคอนเทนต์วาย ทั้งซีรีส์ ภาพยนตร์ นิยาย และสื่อใหม่ จำนวนมาก
สำหรับบันทึกข้อตกลงฯ ฉบับดังกล่าว มีจุดมุ่งหมายสำคัญ คือ เพื่อสร้างกรอบความร่วมมือให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม และส่งเสริม สนับสนุน พัฒนาบุคลากรด้านภาพยนตร์ ซีรีส์ ละคร ในอุตสาหกรรมคอนเทนต์วายให้มีความรู้ และความเข้าใจในตลาดต่างประเทศ เพื่อให้สามารถเข้าสู่ตลาดสากลได้มากยิ่งขึ้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
Post a Comment