พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ รองรับการสมรสเท่าเทียม ไม่จำกัดการหมั้น-สมรสเพียงแค่ชาย-หญิงเท่านั้น มีผลบังคับใช้ในอีก 120 วันข้างหน้า หรือ 22 มกราคม 2568
วันที่ 24 กันยายน 2567 ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 24) พ.ศ. 2567 ความว่า พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้
มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 24) พ.ศ. 2567”
มาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 120 วันแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
อ่านพระราชบัญญัติฯ ฉบับเต็ม ที่นี่
ทั้งนี้ เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่สถาบันครอบครัวเป็นหน่วยสำคัญในการพัฒนาสังคมและการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชน แต่การก่อตั้งครอบครัวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์จำกัดเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างชายหญิงซึ่งไม่สอดคล้องกับสภาพสังคมในปัจจุบันที่มีการอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวระหว่างบุคคลเพศหลากหลาย โดยมีการอุปการะเลี้ยงดูและมีความสัมพ์ในด้านอื่น ๆ ไม่แตกต่างไปจากคู่สมรสที่เป็นชายและหญิง
สมควรแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติบางประการในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เพื่อรองรับให้บุคคลเพศหลากหลายสามารถหมั้นและสมรสกันได้ ซึ่งจะทำให้มีสิทธิ หน้าที่และสถานะทางครอบครัวเท่าเทียมกับคู่สมรสที่เป็นชายและหญิง ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งของครอบครัวที่ก่อตั้งขึ้นระหว่างบุคคลไม่ว่าจะมีเพศใด เว้นแต่จะเป็นกรณีที่มีกฎหมายอื่นกำหนดเรื่องครอบครัวหรือมรดกไว้เป็นการเฉพาะ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
สำหรับกฎหมายสมรสเท่าเทียม ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอในวันที่ 21 พฤศจิกายน 2566 เนื่องจากประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายให้การรับรองสิทธิในการก่อตั้งครอบครัวของคู่รักเพศเดียวกัน ทั้งที่ปัจจุบันในข้อเท็จจริงก็มีคู่รักเพศเดียวกันอาศัยอยู่ร่วมกันในลักษณะ “ครอบครัว” เป็นจำนวนมาก
คู่รักเพศเดียวกันเหล่านี้ขาดเครื่องมือทางกฎหมายในการจัดการความสัมพันธ์แบบครอบครัว ไม่ว่าเป็นสิทธิในการรักษาพยาบาล สิทธิในการอุปการะเลี้ยงดูซึ่งกันและกัน สิทธิในการจัดการทรัพย์สินร่วมกัน ไปจนกระทั่งสิทธิในการรับมรดก
สำหรับสาระสำคัญของร่างแก้ไขก็คือ เพื่อให้บุคคล 2 คนไม่ว่าจะเพศใดสามารถทำการหมั้นและสมรสได้ จาก กม.สมรสปัจจุบันที่การหมั้น ใช้คำว่า “ฝ่ายชาย ฝ่ายหญิง” แก้ไขเป็น “ผู้หมั้นและผู้รับหมั้น” หรือ “เพศ” ที่ใช้คำว่า “ชาย-หญิง” แก้ไขเป็น “บุคคลทั้ง 2 ฝ่าย”
และสถานะหลังจดทะเบียนสมรส จาก “สามีภริยา/คู่สมรส” แก้เป็น “คู่สมรส/คู่สมรส” รวมทั้งการแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติอื่น ซึ่งจะทำให้บุคคลนั้นมีสิทธิ หน้าที่สถานะทางครอบครัว เท่าเทียมกับคู่สมรสที่เป็นชายและหญิง
สำหรับมติเห็นชอบนั้น ที่ประชุมวุฒิสภามีมติเห็นชอบพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่..) พ.ศ. …. หรือกฎหมายสมรสเท่าเทียม เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2567 โดยมีมติรับวาระ 2-3 จากผู้ลงมติทั้งหมด 152 คน ในจำนวนนี้ลงมติเห็นด้วย 130 เสียง ไม่เห็นด้วย 4 เสียง และงดออกเสียง 18 เสียง ขั้นตอนต่อจากนี้ไปจะมีการประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา เพื่อบังคับใช้เป็นกฎหมาย มีผลบังคับใช้ทันทีหลังประกาศในเวลา 120 วัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
Post a Comment